มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้ มั่นใจได้ว่าปลอดโรค

3100 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้ มั่นใจได้ว่าปลอดโรค

        มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบอันดับ 4 ของหญิงทั่วโลก และพบมากเป็นอันดับ 3 ในประเทศไทย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus หรือเชื้อ HPV  โดยผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ นั้นมักไม่แสดงอาการจนกว่าโรคจะพัฒนาจนร้ายแรง   ปัจจุบันมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่า HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 14 สายพันธุ์  โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อยสุดในมะเร็งปากมดลูกโดยพบสูงถึงร้อยละ 70 ทั้งนี้เชื้อHPVไม่ได้ก่อให้เกิดแค่มะเร็งปากมดลูก แต่ยังทำให้เกิดมะเร็งทวารหนัก มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ชาย รวมไปถึงมะเร็งช่องปากและลำคอ

Human papilloma virus and cervical cancer

เรามีโอกาสรับเชื้อ HPV ได้อย่างไร  

โดยหลังมีเพศสัมพันธ์ ร่างกายสามารถติดเชื้อผ่านรอยถลอกหรือบาดแผลเล็กๆบริเวณเยื่อบุผิวปากมดลูก เยื่อบุผิวช่องคลอด ปากช่องคลอด รอบทวารหนัก และ ปลายองคชาติ เมื่อติดเชื้อไวรัส HPV เชื้อจะสามารถซ่อนตัวอยู่ได้นานนับ 10ปีโดยไม่แสดงอาการใดๆ ดังนั้นในระยะนี้เชื้ออาจแพร่สู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว และเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ร่างกายกำจัดเชื้อได้น้อยลง ทำให้เกิดการติดเชื้อ HPV อย่างถาวรและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณปากมดลูก จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
เพศสัมพันธ์กับมะเร็งปากมดลูก

        สำหรับแนวทางในการรักษาเชื้อ HPV นั้นยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสหรือยากำจัดเชื้อไวรัส HPV แต่เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงในการรับหรือติดเชื้อ HPV ได้ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อHPV สามารถเริ่มฉีดที่ได้ตั้งแต่อายุ 9-45ปี หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในการรับเชื้อHPV เช่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การเปลี่ยนคู่นอนหลายคน รวมไปถึงการสูบบุหรี่ ควรตรวจภายในประจำปีพร้อมคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อตรวจพบเซลล์บริเวณปากมดลูกผิดปกติความรับการรักษาและตรวจติดตามอย่างเคร่งครัด


HPV Vaccine ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV  

ปัจจุบันในประเทศไทย มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อHPV อยู่ 2 ชนิด คือชนิด 4 สายพันธุ์ และ 9 สายพันธุ์ โดยวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 70 และ วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ จะป้องกันมะเร็งได้ร้อยละ 90 ทั้ง2ชนิดสามารถป้องกันการเกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศได้ด้วย สามารถเริ่มฉีดวัคซีนดังกล่าวได้ในเด็กที่อายุ 9ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี ผู้ที่ไม่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์จะได้ประโยชน์สูงสุด โดยในเด็กวัยรุ่น อายุ 9-14 ปี ฉีดวัคซีน 2 เข็มที่ 0, 6-12 เดือน  และในผู้ใหญ่ อายุ 16-45 ปี  ฉีดวัคซีนจำนวน 3 เข็ม ที่ 0,1-2 เดือน , 6 เดือน ตามลำดับ ทั้งนี้ควรฉีดวัคซีนครบ 3เข็มภายใน 1 ปี ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน คือผู้ที่แพ้สารในวัคซีน และ ผู้หญิงตั้งครรภ์

 

 

ต้องตรวจภายในก่อนฉีดวัคซีนไหม  

ไม่จำเป็นต้องตรวจภายในก่อนฉีดวัคซีน ในขณะเดียวกันหากได้รับการวัคซีนครบตามจำนวน   การตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ในการป้องกันการเกิดมะเร็ง

ตรวจภายในมะเร็งปากมดลูก

วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ต้องมีเข็มกระตุ้นไหม  

ข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบันพบว่าวัคซีนยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันยาวนานกว่า 10 ปี ดังนั้นปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นซ้ำ

 

พิชามญชุ์ พิทักษ์ไพบูลย์กุล

กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้